พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) (27 มีนาคม พ.ศ. 2430 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2524) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดธนบุรีในอดีต เป็นพระคณาจารย์ที่รู้จักกันดี ด้วยวัตรอันปฏิบัติอันงดงามเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทุกชนชั้น ท่านถึงพร้อมด้วยบุญบารมีและอิทธิบารมี พระเครื่องของท่านมีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ มีประสบการณ์เล่าขานมากมายจากเหนือจดใต้ทั่วประเทศไทย จนกลายเป็นพระหลักยอดนิยมของเมืองไทย[1] ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 จนกระทั่งมรณภาพ รวมระยะเวลานานถึง 68 ปี ขณะนี้ พระครูวินัยธรเพลิน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 จนถึงปัจจุบัน
ประวัติ
พระปิตตาหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน 2 คน ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนหลวงปู่ตั้งนานแล้ว ในวัยเด็ก เด็กชายโต๊ะ ได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว ใกล้บ้านเกิดของท่าน เมื่อมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว เห็นความขยันหมั่นเพียรของเด็กชายโต๊ะ จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น ส่วนนายเฉื่อยก็ไม่ได้ตามมาด้วย คงอยู่ที่วัดเกาะแก้วเหมือนเดิม ท่านได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีอยู่เป็นเวลาอยู่ 4 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2447 โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปการะท่านต่อมา เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็มาเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งต่อมามีพระอธิการคำ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พร้อมทั้งเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีอีกท่านหนึ่งด้วย จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 20 ปี สามเณรโต๊ะ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า อินทสุวัณโณ หลงจากนั้น ท่านได้เรียนศึกษาปฏิบัติคันทธุระ วิปัสสนาธุระ หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนมีความเพียรพยายาม จนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาพระอธิการคำ ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[2]
ออกธุดงค์
ต่อมาหลวงปู่โต๊ะ ได้ออกธุดงค์จาริกไปทั้วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เรียนวิชาพุทธาคม และได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน และก็ได้ธุดงค์ไปยังภาคเหนือเพื่อศึกษาวิชากับพระอาจารย์อีกหลายท่าน และในขณะที่ท่านเดินธุดงค์ ท่านก็ได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และต่อจากนั้น ท่านก็เดินทางไปยังภาคใต้ ไปที่จังหวัดปัตตานี และเมื่อหลวงปู่ท่านกลับมาที่ จังหวัดธนบุรี กลับมายังวัดประดู่ฉิมพลี ท่านก็ได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง [3]
ปฏิปทาและจริยาวัตร
หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนที่มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม มีกริยามารยาทที่งดงาม มีความสุภาพอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ และท่านได้เคยเจอเกี่ยวกับโรคระบาด หลวงปู่ท่านเห็นคนหลายคนไม่สบาย ท่านก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะท่านเองก็เป็นโรคนี้ด้วยเหมือนกัน ท่านจึงตั้งจิตว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านจงหายจากโรคนี้ แต่ถ้า ท่านหมดบุญแล้ว ก็ขอให้ตายซะ ในตอนกลางคืน ท่านได้นิมิตว่า หลวงพ่อบ้านแหลมได้นำน้ำพระพุทธมนต์มาเจริญให้ ตื่นมาท่านก็มาเจริญน้ำพระพุทธมนต์ และสุดท้ายท่านก็หายจากโรคนี้[4]
เบื้องปลายชีวิต
หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่า ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีผู้คนมานิมนต์ท่านให้ออกมาให้พร หรือ ขอความช่วยเหลือ ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังพอฉันอะไรได้ แม้จะรักษาอย่างดีเท่าใด แต่สุขภาพ กายสังขารของท่านก็ไม่อาจจะทนไหว ท่านได้อาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 และก่อนมรณภาพได้เพียง 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 คณะลูกศิษย์ทีเป็นพยาบาล ได้มาถวายรังนกอีก แต่คราวนี้สังเกตได้ว่า แขนของท่าน บวม ท่านอยู่ได้จนกระทั่งเมื่อเวลา 9:55 น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ[5] พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส